เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เปิดตัวช่วย “ตะแกรงรองทรัพย์” ลดความสูญเสีย

14 เมษายน 2566

แค่มีเศษข้าวติดมือระหว่างกระบวนการปั้นแล้วล้างทิ้งไป ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องแสนธรรมดาและไม่น่าจะมีอะไร กลับก่อปัญหาใหญ่ให้ สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ผู้ผลิตข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จังหวัดขอนแก่น ต้องสูญเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัว

ล้างทิ้งเศษข้าวติดมือ = ล้างเงินทิ้งไป
ถ้ามองเผินๆ การมีเศษข้าวติดมือตอนปั้น แล้วทำการล้างมือ เพื่อกลับมาปั้นใหม่อีกครั้งไม่น่าจะมีพิษภัยอะไร นั่นเพราะไม่เคยมีใครสะกิดใจว่าเศษข้าวที่ล้างทิ้งไปคือการทิ้งเงินและรายได้ไปดีๆ นั่นเอง

“เวลาที่ปั้น ข้าวมักจะติดมือเสมอ เราเลยต้องล้างมือล้างน้ำ เพื่อกลับมาปั้นต่อ และทิ้งเศษข้าวที่ล้างไป ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเศษแค่นิดเดียว แต่ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้ว ข้าวที่ทิ้งมันไม่ใช่เศษ แต่กลับเป็นจำนวนหลายกิโลกรัมต่อวัน เท่ากับเราทิ้งเงินไปวันละหลายร้อยบาทเลยทีเดียว”

  • เกิดความสูญเสียจากข้าวติดมือเป็นจำนวนมากถึง 14 กก./วัน

หยุดเงินไหลออกง่ายๆ ด้วย “ตะแกรง” รองเศษข้าว
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไป จึงมีการเพิ่มตะแกรงรองไว้ในถังล้างมือ เพื่อรองข้าวกลับมาใช้ใหม่ ลดของเสียที่เกิดจากการผลิต และลดโอกาสสูญเสียรายได้ที่เคยเสียไปแบบฟรีๆ

“พอมีตะแกรงมารองในถังน้ำ เวลาที่เราล้างมือ เศษข้าวก็จะอยู่ในตะแกรง ซึ่งเราสามารถนำเศษข้าวในตะแกรงนั้นกลับมาผสมเพื่อปั้นใหม่ได้ โดยเศษข้าวนี้ไม่ใช่ของเสีย ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืนแล้วเอามาผสม แต่เป็นของที่เราทำกันวันนั้นพอล้างแล้วได้ปริมาณหนึ่งก็ยกขึ้นไปผสมใหม่อีกที” 

  • ลดการสูญเสียจากข้าวติดมือเหลือเพียง 0.06 กก./วัน
  • ลดของเสียการผลิตเหลือเพียง 0.01%
  • ลดต้นทุนได้ 3,600 บาท/เดือน

3 ข้อคิดสะกิดธุรกิจเร่งทบทวน!

  • เศษ ≠ เศษ : แม้เป็นเศษวัตถุดิบที่ทิ้งเพียงเล็กน้อยในแต่ละครั้ง สามารถกลายเป็นจำนวนมากได้เมื่อรวมกัน
  • เศษ ≠ ของเสีย : อะไรที่เคยทิ้งแต่อยู่ในสภาพดี ควรลองคิดหาวิธีนำกลับมาใช้ใหม่
  • เศษ ≠ เรื่องเล็ก : ระวังเรื่องที่คิดว่าเล็กหรือไม่ใช่ปัญหาย้อนกลับมาทำร้ายธุรกิจในภายหลัง

ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ