เกร็ดความรู้ในการทำธุรกิจ

Hart Sport Wear ชี้จุดอันตราย! “ใช้ความรู้สึก” ต้นเหตุทำสต็อกพัง!!

6 มีนาคม 2566

เชื่อไหมแค่คำว่า “รู้สึกว่า...สีนี้แหละขายดี สินค้าแบบนี้แหละลูกค้าชอบ”

คือตัวการทำธุรกิจล่มต่อหน้าได้แบบไม่รู้ตัว!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในกับดักชิ้นโตที่บรรดาธุรกิจมักตกหลุมพรางอยู่ที่การใช้แค่ “ความรู้สึก” “การคิดเอาเอง” ว่าสินค้าไหนขายดีโดยที่ “ไม่มีการเก็บสถิติ” หรือ “มีตัวเลข” มายืนยัน ส่งผลให้เกิดปัญหาในโกดัง ที่ไม่เพียงแค่กินพื้นที่ แต่สต็อกยังบวม แถมต้นทุนยังบาน แบบเดียวกันกับที่บริษัท Hart Sport Wear จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อโปโล แห่งอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีเคยทำมาแล้ว

 

Feeling เป็นเหตุ...สังเกต (ไม่) ได้

สถานการณ์เช่นนี้คือความคุ้นเคยที่ รสวรรณ จงไมตรีพร กรรมการผู้จัดการของบริษัทมักใช้แค่ Sense หรือความรู้สึกในการประเมินอยู่บ่อยๆ ว่าผ้าสีไหนต้องสั่งเข้ามาเพิ่ม หรือมองด้วยสายตาว่าไซส์ไหนยุบแล้วต้องตัดเพิ่มเท่านั้นเอง 

“ถ้าถามว่า สีไหนขายดีสุด? ไซส์ไหนขายดีสุด? ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่มีสถิติเก็บไว้ เราใช้แต่ความรู้สึกที่ว่า ถ้ามันยุบเราก็ตัดเพิ่มใหม่ แต่เราไม่เคยเช็กละเอียด เราไม่เคยจดสถิติ ได้แต่บอกว่า สีดำมั้ง สีแดงมั้ง สีขาวมั้ง หรือสีนี้ลูกค้าสั่งเยอะ เราก็สั่งซื้อผ้ามาเลย ช่วงนี้สีนี้กำลังมา เราก็สั่งเข้ามาๆ เพิ่ม จนมีสต็อกนอนกองเป็นหลักหมื่น”

  • ไม่เก็บสถิติ ใช้เพียงการคาดเดา = ต้นเหตุสต็อกสะสม 29,000 ตัว/เดือน

 

ไขความเข้าใจผิด : มีสต็อกแทบทุกสี ขายได้

            เมื่อความเป็นจริงสวนทางกับสิ่งที่คิด มีทุกสี ตัดไว้ทุกขนาด กลับไม่ใช่เรื่องดี แต่เป็นตัวการสั่นสะเทือนธุรกิจให้ต้องเจอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สินค้าค้างเป็น Dead Stock และหมดพื้นที่ไปกับการจัดเก็บ

“เราเข้าใจว่าถ้าเราตัดไว้เยอะๆ ลูกค้าต้องการสีไหนเราก็มีให้ แต่ผลสุดท้ายลูกค้ามักจะตัดในแบบที่เขาต้องการ ของที่เราตัดไว้เลยกลายเป็นสินค้าค้างสต็อกไป”

บทเรียนราคาแพง : ตัดมากอง = ต้นทุนจมกว่า 3.7 ล้านบาท/ปี

                          ตัดทิ้งไว้นานๆ = ผ้ากินตัว เป็นรู ซีด เสียหาย สุดท้ายขายไม่ได้

                          อัดสต็อกให้เยอะเผื่อลูกค้าชอบ = มีสต็อกเยอะเกินความจำเป็น กินพื้นที่จัดเก็บ 100%

พลิกสถานการณ์ ด้วยการ “จัดเก็บข้อมูล” 

เพื่อไม่ให้การคาดคะเนหรือเดาเอาล้วนๆ เป็นอุปสรรคขวางการทำธุรกิจอีกต่อไป Hart Sport Wear จึงทำการรายงานความเคลื่อนไหวของสต็อก เพื่อควบคุมการทำงานและสินค้าเข้า-ออก พร้อมใช้สต็อกการ์ดที่ระบุข้อมูลทุกอย่าง เช่น รุ่น สี และขนาดเสื้อ เป็นฐานข้อมูลกำหนดวัตถุดิบที่ควรมีในสต็อก

“วิธีนี้ทำให้เรารู้ว่า แต่ละวันเรามีการซื้อ-ขายเท่าไร สต็อกของเรามีอะไร และเราควรจะตัดอะไรเพิ่ม เช่น ไซส์นี้หมดแล้วต้องตัดมาเพิ่ม ซึ่งช่วยควบคุมการทำงานให้ดีขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกและจัดเก็บจากสต็อกการ์ดมาใช้กำหนดจำนวนสินค้าว่าต้องมีเท่าไร ตอนนี้มีของเหลืออยู่เท่าไร จะได้ผลิตของใหม่เพิ่มให้พอดี ไม่เหลือมากจนเกินไป”

  • เก็บสถิติ = ทำให้รู้ว่าลูกค้าไม่ได้ชอบทุกสี + รู้แบบ สี ขนาดที่มีในสต็อก
  • ได้สินค้าสดใหม่ มีคุณภาพ ไม่ผลิตเกิน ลดการลงทุนและเงินจม เหลือ 1 ล้านบาท/ปี
  • ลดสินค้านอนกองเหลือ 7,615 ตัว/เดือน
  • ลดพื้นที่การจัดเก็บสต็อกลง 70%

 

ถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่า ข้อมูลหรือสถิตินั้นสำคัญต่อการทำธุรกิจขนาดไหน และการไม่รู้หรือไม่เคยจัดเก็บนั้นสามารถส่งผลได้อย่างไร เพราะฉะนั้นทางที่ดีอย่าปล่อยให้ธุรกิจของคุณเดินซ้ำรอยนี้จนต้องพูดประโยคเดียวกันกับ รสวรรณที่ได้เคยเอ่ยเอาไว้ว่า “เราไม่เคยคิดเลยว่า ข้อมูลจะสำคัญ จึงทำให้ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วสินค้าไหนขายดี สีอะไรขายดี วัตถุดิบแบบไหนที่ใช้เยอะที่สุด หรือลูกค้ามีกี่ราย คนไหนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ คนไหนที่เป็นลูกค้ารายย่อย” จนธุรกิจเกือบถึงทางตันเลยจะดีกว่า   

 

บริษัท Hart Sport Wear จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” และเรียนรู้การนำระบบ TPS (Toyota Production System) และการไคเซ็น (Kaizen) มาใช้ ตลอดจนมีศักยภาพในการยกระดับการดำเนินงานให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” (Yokoten Center) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสามารถส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องแก่ผู้เยี่ยมชมและธุรกิจที่มีความสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ